» หน้าหลัก

» คัมภีร์พุทธศาสน์ > บทความ  

 

เรื่องฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์กับงานบริการสังคม*

นายสุชญา ศิริธัญภร ป.ธ.๙, พธ.บ.,พธ.ม. (พระพุทธศาสนา)
รักษาการหัวหน้าฝ่ายตำราและเอกสารทางวิชาการ
กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ความนำ

       ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์กับงานบริการสังคมนี้ เนื่องจากผู้เรียบเรียงเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำราวิชาการ ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์ กองวิชาการ เป็นเวลานาน ๑๑ ปี ก่อนที่จะมาทำงานด้านตำราและเอกสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงมีความประสงค์ที่จะนำเสนอเกร็ดความรู้ของฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์ให้สังคมภายนอกได้รับรู้ เพราะมีหลายแง่หลายมุมที่จะช่วยให้ได้ทราบว่า หน่วยงานนี้ ทำอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนา ประชาชนและมหาวิทยาลัย อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานแต่ละหน่วยทำอะไรบ้าง สามารถให้งานบริการวิชาการแก่สาธารณชนมากเท่าไร มีประโยชน์มากน้อยเพียงไร มีคุณค่ามากน้อยเพียงไรต่อสังคม ซึ่งผู้เรียบเรียงจะได้แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์ให้งานบริการสังคม ในประเด็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

๑. ด้านการให้การบริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ หน่วยงานฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์ หลายท่าน คงจะประจักษ์ในเรื่องนี้ดี เพราะทำงานช่วยอำนวยความสะดวกแก่ท่านสาธุชนมาโดยตลอด ๆ ตั้งแต่หนังสือเริ่มเสร็จใหม่ ๆ คือ ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นมา มีช่วยไปนำหนังสือที่ฝากไว้จากวัดต่าง ๆ มีวัดสร้อยทอง วัดเนินสุขาราม เป็นต้นมาไว้ที่ตำหนักสมเด็จฯแล้ว ช่วยจัดเข้าเป็นชุด จัดเป็นกล่อง กล่องที่ ๑ ใส่ ๑๗ เล่ม กล่องที่ ๒ ๑๔ เล่ม กล่องที่ ๓ ๑๔ เล่ม นำหนัก ๓ กล่องนี้ รวมกันประมาณ ๗๘ กิโลกรัม

       ในลักษณะการจัดหนังสือนี้ ต้องอาศัยความละเอียดอย่างมาก เพราะจัดหนังสือเป็นชุดๆ แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่นั้นเท่านั้น ยังจะต้องดูความเรียบร้อยอีกด้วย เช่นดูหนังสือพระไตรปิฎกเล่มไหน ชำรุดบ้าง ปกแตกไหม ตัวทองเป็นอย่างไร พิมพ์ตัวอักษรครบหรือไม่ ตัวอักษรกลับหัวหรือไม่ กระดาษหนังสือสกปรกหรือไม่ และเป็นประการสำคัญก็คือ หนังสือแต่ละชุดนั้น ซ้ำเล่มกันหรือไม่ เพราะชุดหนึ่งมีตั้ง ๔๕ เล่ม อาจจะซ้ำกันก็เป็นได้ ฉะนั้น จึงต้องตรวจแล้วตรวจแล้วตรวจอีก หลังจากจัดเป็นชุดเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องนำบริการให้ท่านสาธุชนที่มาเช่าซื้อนั้น ได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่ โดยการเข็นพระไตรปิฎกทั้ง ๓ กล่องนั้นมาส่งที่รถ หรือนำส่งขึ้นรถแท็กซี่ตรงหน้าวัด บางคนเช่าซื้อ ๒ ชุด ๖ กล่องแล้ว ลองคิดดูว่า ๖ กล่องก็ ร้อยกว่ากิโลแล้ว หนักไหม เหนื่อยไหม คุ้มไหม ตอบได้เลยว่า ถ้าเป็นด้านตัวเงินแล้วไม่คุ้มเคย ที่ต้องมาทำงานเช่นนี้ ทำงานหนักเช่นนี้ แต่ถ้ามองด้านส่วนรวมแล้ว คุ้มเหลือเกิน มีสุขใจอีกต่างหาก ได้ทรงพระไตรปิฎกวันละหลาย ๆ ครั้ง ทรงไว้ไม่ให้ตกหล่นนี้ เกิดภูมิใจมาก หลายคนไม่ได้มีโอกาสได้ทำเหมือนกัน เพราะหลายคนนั้น มองไม่เห็นคุณค่าด้านจิตใจ เกิดความภูมิอย่างมาก เป็นบุญทั้งนั้น บุญด้านขวนขวายทำความดี ได้บำเพ็ญความดี ทำความดี ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะหลายคนที่มีกำลังน้อยทำไม่ได้ เพราะหนักมาก เราอยู่ที่นี้ นับว่าดีเหลือเกิน มีโอกาสมากจริง ได้ทำความดีมากด้วยเพราะได้ยกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปให้ประชาชน ได้เรียนรู้กัน ได้ปัญญา ได้แก้ไขปัญหาชีวิต อันเป็นการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยทางอ้อม ยิ่งได้ยกคำสอนวันละหลายๆ ครั้ง เป็นการช่วยเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์มากขึ้นเท่านั้น

๒. ให้ข้อมูลทางวิชาการ และให้ความกระจ่างแก่ประชาชน

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า หน่วยงานนี้ ได้ช่วยตรวจสอบงานด้านวิชาการของอาจารย์หลายท่าน กล่าวคือ อาจารย์หลายท่าน จากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งภาคราชการ เช่น เจ้าหน้าที่กรมกรมศาสนา สำนักราชวัง และภาคเอกชน เช่น หนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ อาทิ ช่อง ๗ เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนา หาข้อความตรงที่ต้องการประสงค์จะรู้ยังไม่ได้ ส่วนมาก จะมาสอบถามความรู้ตรงนั้น ตรงนี้ ด้วยตนเอง โดยมายังที่ตำหนักสมเด็จมาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือบางท่านก็จะโทรศัพท์มาสอบถาม บางท่านก็ขอความกระจ่างแจ้งในข้อความบางข้อความทางจดหมาย

       ทางหน่วยงานนี้ ก็จะให้งานบริการกับทุกท่านที่มาติดต่อ ให้ความเป็นกันเอง ต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีเป็นกันเองให้ความกระจ่างในทุกด้าน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายคัมภีร์มีลักษณะหลากหลาย กล่าวคือ จะถามเรื่องต่าง ๆ นั้นถามได้เลย ถามได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนา ถึงเจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะตอบไม่ได้ทันที แต่ไม่ช้าจะตอบได้ เพราะอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ของเรานั้น มีความหลากหลาย รู้และเชี่ยวชาญในด้านคัมภีร์ไม่เหมือนกัน บางท่านทำคัมภีร์ พระวินัย บางท่านทำคัมภีร์พระสูตรทีฆนิกาย บางท่านทำคัมภีร์มัชฌิมนิกาย บางท่านทำคัมภีร์สังยุตตนิกาย บางท่านทำคัมภีร์อังคุตตรนิกาย บางท่านทำคัมภีร์ขุททกนิกาย บางท่านทำคัมภีร์อภิธรรม อาจารย์บางท่านเชี่ยวชาญในหลายคัมภีร์ เพราะคลุกคลีกับด้านคัมภีร์มาเป็นเวลานาน สอบถามอะไร ก็จะตอบได้ทันที บอกได้ว่า ตรงนี้ ควรดูเล่มนั้น เล่นนี้ก็มี เล่นนี้ ชัดเจนกว่า และเชื่อมโยงกับเรื่องนั้นในเล่มนั้น เรียกว่า ถามครั้งเดียว อาจจะได้ความรู้มากกว่าที่ถามเป็นหลายเท่า เพราะเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นว่าแต่ละเล่มนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวคล้องกัน สนับสนุนกัน เพราะฉะนั้น หน่วยงานนี้ ประชาสัมพันธ์ได้เลยว่า หาข้อมูลที่ไหนไม่ได้ มาที่นี้แล้วไม่ผิดหวัง มีแต่ความสมหวัง และรอยยิ้มกลับไป

๓. ด้านแหล่งทำบุญของประชาชน

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ หน่วยงานนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ เป็นต้นมา ถือได้ว่า ได้มีส่วนร่วมในการบำเพ็ญของประชาชนทั่วประเทศ กล่าวคือทางหน่วยงานนี้ ได้มีส่วนรวมเป็นผู้นำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการบริจาคพระไตรปิฎกให้แก่เจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ ทั่ง ๗๖ จังหวัด นอกจากนี้ ยังได้บริจาคให้กับเจ้าคณะภาคทั้ง ๑๘ ภาค ตลอดถึงเจ้าคณะเขต และวัดบางวัดที่เจ้าภาพเจาะจงถวายโดยเฉพาะ เป็นจำนวนสองร้อยกว่าชุด นอกจากนี้ ทางหน่วยนี้ยังได้บริการนำรายชื่อของท่านเจ้าภาพผู้มีความประสงค์จะติดรายชื่อไว้ในหนังสือพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่ม ก็จะทำติดให้เป็นราย ๆ ไป โดยคิดค่าบริการเพียง ๒๕ บาทเท่านั้น ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ท่านเจ้าภาพ ถือว่างานด้านการบริการนี้ เป็นการชักจูงคนให้มาทำบุญอยู่เรื่อยๆ บางคนมาทั้งครอบครัวโดยรวมกันมาทำบุญ และยังชักคนข้างเคียงมารวมกันทำบุญกัน สาธุชนส่วนมากที่มาทำบุญกันที่ตำหนักนั้น มุ่งหวังที่จะที่นำพระไตรปิฎกไปถวายวัดที่บ้านเกิดหรือสถานที่แห่งนั้น ที่ตนเองเคยไปพักอาศัย เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั้น อยากตอบแทนสถานที่แห่งนั้น อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้เรียบเรียงมุ่งจะเสนอคือ คำสนทนาระหว่างผู้เรียบเรียงกับอุบาสกผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งที่ว่า เมื่อดิฉันไปพบอะไรที่ดีในพระไตรปิฎกแล้ว ไม่อยากให้ของดีที่เป็นคำสอนนั้น อยู่แต่เพียงในพระไตรปิฎกนั้น อยากจะให้คนอื่นได้เรียนรู้บ้าง จึงได้นำคำสอนของพระพุทธองค์ออกเผยแผ่โดยการพิมพ์แจกข้อความนั้นๆ ไปยังเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง เพื่อเขาจะได้มีความสุข สมหวังและประสพความสำเร็จในชีวิต รู้สึกภูมิใจมากที่สุด ที่ได้นำเสนอสิ่งที่ดีเลิศ ประเสริฐที่สุดให้กับเขาเหล่านั้น นับว่าดิฉันได้สร้างบุญที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือสร้างปัญญาแสงสว่างให้กับคน

๔. ด้านการให้ปัญญาคือประทีปแก่คนระดับประเทศ

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้ว หลังจากที่พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ออกสู่สายตายประชาชนแล้ว นับว่าได้ตอบสนองคนทุกระดับได้เป็นอย่างดีมาก ซึ่งจะพิสูจน์ได้ว่า คนที่เป็นมันสมองของประเทศและหน่วยงานสำคัญของรัฐ อาทิเช่น นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี นายปัญจะ เกสรทองรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ ท่านทูตของประเทศต่าง ๆ ท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ แพทย์ ทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ และผู้บัญชาการภาคในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดพ่อค้าประชาชน บริษัทร้านค้า ได้มาเช่าซื้อหนังสือพระไตรปิฎกชุดนี้ไว้เพื่อไว้ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ดังจะยกตัวอย่างบุคคลสำคัญ เช่น นายปัญจะ เกสรทอง มาซื้อด้วยตนเอง ท่านทูตต่างประเทศต่าง ๆ เช่น เนเธอร์แลนด์ ส่วนมากให้คนในสถานทูตมาติดต่อเช่าซื้อ ผู้บัญชาการภาคต่าง ๆ ส่วนมากจะมาเช่าซื้อด้วยตนเอง บริษัทร้านค้า เช่นผู้แทนธนาคารกสิกรไทย เช่าซื้อเป็นจำนวน ๑๐๐ ชุด ตัวแทนจากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เช่าซื้อเป็นจำนวน ๓๐ ชุด

       นอกจากนี้ พระไตรปิฎกชุดนี้ มิใช่ชาวพุทธเท่านั้นที่อ่านกัน แม้แต่คนในศาสนาอื่น และลัทธิต่าง ๆ ก็ได้มาติดต่อ มาเช่าซื้อ มาติดต่อค้นหาข้อมูลด้วย เป็นที่น่าดีใจเป็นที่สุด บางลัทธินั้น สั่งซื้อทีเป็นสิบ ๆ ชุดทีเดียว

๕. ด้านสร้างคนให้รู้พระพุทธพจน์ที่ให้มีความเชี่ยวชาญ

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อทางมหาวิทยาลัย ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะมีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้พระไตรปิฎกไปควบคู่กับการศึกษาขั้นสูง บัดนี้ผลตรงนั้น เริ่มทอแสงประกายแล้ว เริ่มจะเห็นผลแล้ว เมื่อปี ๒๕๔๒ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาฯเสร็จ ก็ได้มีบุคคลต่าง ๆ เข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก เมื่อทางมหาวิทยาลัยเริ่มให้การสนับสนุนหน่วยงานนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องติดต่อกันแล้ว ส่วนหนึ่งนั้น เป็นการสร้างคนให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนาโดยตรง อีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นการฝึกคนให้หันมารู้เรียนและค้นคว้ามากขึ้นตามลำดับ ตรงนี้หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจในจุดนี้ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคนนำพระไตรปิฎกไปศึกษากันมากขึ้น คนทั้งหลายได้ยินได้ฟังคำสอนทางศาสนามากขึ้น บางคนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องนั้นอย่างแจ่มแจ้ง แต่ติดใจสนใจข้อความตรงนั้น ก็จะศึกษาและค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อตั้งใจที่จะศึกษาแล้ว การที่จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องยาก เมื่อเกิดข้อสงสัยในบางประการ ก็จะต้องสอบถามกับท่านผู้รู้และมีความเชี่ยวชาญ

       เพราะฉะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยดำรงหน่วยงานนี้ไว้อย่างมั่นคงและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เป็อยู่ในปัจจุบัน ก็จะเป็นสร้างคนให้มีความพร้อมในการที่จะให้การบริการแก่ประชาชนที่มาสอบถามข้องใจในบางประการได้ ธรรมดาคนเรานั้น มีความเชี่ยวชาญชำนาญเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่าง ๆ นั้น จะทำเป็นเพียงแค่ปีสองปีนั้น จะมีความชำนิชำนาญนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะจะเห็นได้ว่า คนที่อยู่อู่รถนั้น บางคนต้องอาศัยการอยู่อู่รถเป็นเวลา ๕ - ๑๐ ปี จึงเกิดเชี่ยวชาญชำนาญ คนที่ทำงานเกี่ยวกับด้านนี้ สมควรที่จะรักษาคนที่ใจรักและสนใจเกี่ยวกับการค้นคว้าคัมภีร์ให้อยู่กับหน่วยงานนี้ให้นาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างหน่วยงานนี้ให้มีศักยภาพมากที่สุด สมควรที่จะให้ค่าตอบแทนให้มากกว่าหน่วยงานอื่น ๆ เพราะงานคัมภีร์เป็นงานใช้สมอง ใช้ปัญญา และอีกส่วนหนึ่ง คนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่หน่วยงานนี้ ก็ต้องพัฒนาใฝ่รู้ใฝ่คิดพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาแล้ว หวังแน่นอนได้ว่า หน่วยงานนี้จะเป็นดาวประกายพฤกษ์ได้อย่างแน่นอนได้อย่างไม่ช้า จะเป็นดาวหรือไม่นั้น มีส่วนสำคัญอยู่ ๒ ส่วนคือ นโยบายต้องชัดเจนมั่นคงและต่อเนื่อง และคนในหน่วยงานต้องพัฒนาตน ใฝ่รู้ใฝ่คิด สร้างผลงานให้หน่วยงาน แล้วหน่วยงานก็จะเป็นที่ยอมรับในตัวเองแน่

๖. ตรวจงานในด้านวิชาการ

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายคนที่เป็นท่านอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เดินทางยังตำหนักสมเด็จนั้น ให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่ามาจากที่ไหนบ้าง เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานนี้ก็ให้คำแนะนำว่า ข้อมูลตรงนี้ยังไม่พอ สมควรอ้างถึงตรงนั้นด้วย หรือ ข้อมูลตรงนี้ ยังอ้างที่มาไม่ถูกต้อง ก็จะบอกว่าถูกต้องเป็นอย่างไร หรือข้อมูลได้อ้างไว้แล้ว แต่มีแห่งเดียว ก็จะเพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดให้ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก ที่หน่วยงานนี้ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างให้จบระดับมหาบัณฑิตจากสถาบันต่างๆ เช่น มหิดล ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ศิลปากร เป็นจำนวนหลายสิบท่าน นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่ง ที่เสมือนคล้ายเป็นห้องสมุดย่อยของมหาวิทยาลัย สำหรับนักศึกษาที่ประสงค์จะค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวกับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะมาติดต่อและข้อยืมหนังสือและตำราในการค้นคว้า ซึ่งทางหน่วยงานนี้ ก็ตอบสนองให้เป็นอย่างดี

๗. ช่วยประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬา ว่ามีอะไรเด่น

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายคนที่ก่อนจะได้ตกลงซื้อของอะไรสักอย่างหนึ่งนั้น ยิ่งเป็นของที่มีราคาเป็นหมื่นแล้ว ใช่จะเสียเงินเสียทองกันง่าย ๆ นับว่าไม่ใช่ประสาของคนธรรมดาเท่าไรนัก เพราะเงินเป็นหมื่นนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อจะยอมเสียอะไรเป็นเงินเท่านี้ ต้องเป็นของที่มีคุณค่ามาก และมีประโยชน์มากเลยทีเดียว จะยอมเสียสละได้ แต่บางคนนั้น ก่อนที่จะเสียสละเงินมากเพียงนี้ ก็จะต้องมีการสอบถามว่า พระไตรปิฎกคืออะไร ก็จะตอบไปว่า คือหนังสือที่จารึกพระคำสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็จะตอบไปว่า หนังสือพระไตรปิฎกนั้น จะประกอบไปด้วย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ในแต่ละอย่างนั้น พระวินัยปิฎกคือประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย หมายถึงพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินการกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก คือประมวลหมวดพระสูตร คือพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่าง ๆ ที่ตรัสยักเยื้ยงในเหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่าและเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา พระอภิธรรมปิฎก คือประมวลพุทธพจน์หมวดอภิธรรม หมายถึงหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาการล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ซึ่งเป็นหัวใจของธรรมชั้นสูง

       สำหรับพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฉบับนี้ มีข้อดีอย่างไรบ้าง เฉพาะฉบับนี้ จะมีข้อเด่นที่ต่างจากเล่มอื่น ๆ คือ

       ๑. มีบทนำ ก่อนที่จะเข้าเรื่องนั้นของแต่ละเล่ม จะมีบทนำของแต่ละเล่ม บอกถึงว่าในแต่ละเล่มนั้นประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง ว่าด้วยเรื่องอะไร มีธรรมอะไรบ้าง

       ๒. มีเชิงอรรถ คือเล่มนี้ จะมีการทำเชิงอรรถ อธิบายคำบางคำที่มีหลายความหมายไว้โดยเฉพาะตรงนี้หมายถึงอะไร และข้อมูลใดก็ตามที่มีปรากฏอยู่หลายเล่ม อยู่ในนิกายต่างกันบ้าง ปิฎกต่างกันบ้าง ก็จะมีการเชื่อมโยงกันในเล่ม ต่างเล่ม และคัมภีร์อื่น ๆให้เห็นกัน เช่น เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร จะมีปรากฏอยู่ ในเล่ม ๑๐ เล่ม ๑๒ เล่ม ๑๙ และเล่ม ๓๕ ในพระไตรปิฎกของแต่ละเล่มนั้น เฉพาะข้อความในพระสูตรกับข้อความในอภิธรรมอธิบายแตกต่างพิสดารกว่ากัน ถ้าสนใจก็หาอ่านพิสูจน์ด้วยตนเองได้ สำหรับที่มาในการอ้างอิงใน นอกจากพระไตรปิฎกแล้ว ก็จะใช้บางส่วนจากข้อมูลจาก อรรถกถา ฏีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ระดับรองลงมา

       ๓. จะมีดรรชนีท้ายคำและหมวดธรรมไว้ท้ายเล่ม คำใดก็ตาม ที่เป็นคำเด่น หรือคำสำคัญ ๆ จะมีปรากฏอยู่ในท้ายเล่ม และหมวดธรรมนั้น ก็จะจัดลำดับไว้ เรียงลำดับตั้งแต่หมวดน้อยไปหาหมวดมาก

       ๔. จะมีตัวอักษรตัวใหญ่ และจัดวรรคตอน เป็นชัดเจน มีข้อ หน้า และข้อความจบว่าจบตรงไหนชัดเจน และข้อของภาษาไทยฉบับมหาจุฬาฯนี้ จะเปิดตรงไหน ก็จะตรงกันกับพระไตรปิฎกภาษาบาลี ไม่ว่าจะเป็นเล่ม ข้อและหน้า

       ๕. สำนวนภาษาที่แปล ใช้ภาษาไทยที่ทันสมัย เข้าใจง่าย มีความไพเราะ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สำหรับพระไตรปิฎกทั้ง ๔๕ เล่มนี้ จะมีรูปเล่มสวยงาม ใช้ปกอย่างดี และสีสวยดูสะอาดตา และใช้เย็บสันปกอย่างประณีตมาก ตลอดถึงในการพิมพ์นั้น ก็ใช้กระดาษพิมพ์อย่างดี เมื่อได้ฟังคำชี้แจงจากทางหน้าที่ของหน่วยงานนี้แล้ว หลายคนในตอนแรกนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเช่าซื้อฉบับไหนดี แต่ได้ฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานนี้แล้ว ก็ตกลงเช่าซื้อฉบับนี้ทันที และสำหรับท่านสาธุชน เมื่อมาบางโอกาสที่จะติดต่อนั้น ทางมหาวิทยาลัย มีหนังสือแจก เช่นพุทธจักร และหนังสือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกด้วย โดยมอบเป็นอภินันทนาการจากหน่วยงานนี้ ดังนั้น ด้านการประชาสัมพันธ์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นสำคัญไม่น้อยเหมือนกัน

       ๘. สร้างงาน สร้างคน ให้โอกาสได้คนทำงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นการสร้างงานให้คนได้ทำงานไม่น้อย งานคัมภีร์นี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้คนได้มีรายได้ ซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เริ่มตั้งแต่พิมพ์ ก็ต้องใช้หมึกและกระดาษ ตลอดถึงคนงานในโรงพิมพ์เป็นจำนวนมาก ไหนจะเป็นค่าปก ค่าสีปก ค่าขนส่ง นอกจากนี้ หลังจากพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว ก็ได้สร้างงานให้กับร้านค้าต่าง ๆ โดยมีสิ่งของที่ล้ำค่า นำไปบริการให้คนลูกค้าถึงที่ใกล้เคียง เพื่ออำนวยความสะดวก ถ้ามองในด้านดีแล้ว ถือได้ว่า ร้านค้าต่างๆ นั้น ได้เป็นผู้มีส่วนรวมในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยอ้อม เพราะเป็นการให้คนทั้งหลายได้มีโอกาสในการที่จะเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้น เราจงภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้คนมีงานทำและอีกส่วนหนึ่งก็ได้ช่วยเผยแผ่คำสอนด้วย

๙. ด้านจุดประทีปให้คนเห็นแสงสว่าง

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประสงค์จะชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานนี้ ยามใดก็ตาม ที่คนมีความมืด ไม่พบแสงสว่างหาข้อมูลไม่ได้ จำข้อมูลไม่ได้ หรือจำได้ แต่จำได้ยังไม่ชัดเจน เกิดความไม่มั่นใจ เชิญมาทางนี้ มีคำตอบ ตอบให้ได้ นอกจากนี้ บุคคลของหน่วยงานนี้จำนวนหลายรูป/คน ยังได้มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับพระไตรปิฎกอีกด้วย นับเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่ได้นำคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าไปเผยแผ่ให้ขยายแผ่ไปทั่วประเทศ พูดครั้งเดียวคนได้รับรู้ทั่วประเทศ เมื่อได้ทำงานตรงนี้แล้ว คงจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมพอสมควร ท้ายนี้ ผู้เรียบเรียงขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราวของหน่วยงานนี้ว่าได้ทำอะไรบ้าง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง อันเป็นการรวบรวมและเรียบเรียงจากประสบการณ์ตรง ตลอดระยะเวลาการทำงานเป็นเวลา ๑๑ ปีกว่าเป็นต้นมา และขออวยพรให้ผู้อ่านทุกคนที่มีใจเป็นกุศล เป็นคนมีบุญ จงมีความสุขทั้งกายและใจ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ประกอบด้วยธรรม ขอสิ่งนั้น ๆ จงพลันสำเร็จ ๆ สมดังมโนรถเทอญ.

กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย