» อักษรย่อชื่อคัมภีร์

» ตำราวิชาการ > บทความทางวิชาการ  

 
หน้า [พระไตรปิฎก] [ปกรณวิเสส] [อรรถกถา] [ฎีกา] [ไวยากรณ์] [อธิบาย]

อธิบายอักษรย่อ

วิ.จู. (บาลี) ๗/๒๘๕/๔๖, วิ.จู. (ไทย) ๗/๒๘๕/๗๑. หมายถึง วินยปิฏก จูฬวคฺคปาลิ เล่ม ๗ ข้อ ๒๘๕ หน้า ๔๖ ฉบับ มหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐ และวินัยปิฎก จูฬวรรค เล่ม ๗ ข้อ ๒๘๕ หน้า ๗๑ ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ วิ.มหา.อ.(บาลี) ๑/๕๗. หมายถึง วินยปิฏก สมนฺตปาสาทิกา มหาวิภงฺคอฏฺฐกถา ภาค ๑ หน้า ๕๗ ฉบับ มหาจุฬาอฏฺฐกถา ๒๕๓๔ ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๗๕-๗๖. หมายถึง ธมฺมปทอฏฺฐกถา ภาค ๑ หน้า ๗๕-๗๖ ฉบับ มหามกุฏราชวิทยาลัย วิมติ.ฏีกา (บาลี) ๒/๒๘๕/๓๐๖. หมายถึง วิมติวิโนทนี วินยปิฏกฏีกา ภาค ๒ ข้อ ๒๘๕ หน้า ๓๐๖ ฉบับ มหาจุฬาฏีกา ๒๕๓๘

ตัวอย่างการใช้อักษรย่อ

บทที่ ๑ บทนำ

๑.๑ ความเป็นมา ความสำคัญ และที่มาของการวิจัย

       บุคคลในโลกนี้ย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยฐานะใดฐานะหนึ่ง เริ่มจากความสัมพันธ์กันภายในครอบครัวจนถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลทั่วไป เมื่อบุคคลมีความสัมพันธ์กันโดยฐานะต่าง ๆ เช่นนี้ สิ่งที่ทุกคนจะได้ประสบเจอ ก็คือความตาย เพราะทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ ฉลาด มั่งมีและยากจน ล้วนต้องตาย(๑) คนผู้เกิดแล้วจะไม่ตายไม่มี คนที่มีชีวิตอยู่ได้นานก็อยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือจะอยู่เกินไปบ้างก็มีน้อย(๒) ความตาย (Death) เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ มีคำกล่าวไว้ว่า น้ำตาที่รินหลั่งเพราะความเศร้าโศกเสียใจ อันมีสาเหตุมาจากการต้องประสบกับความสูญเสียบุคคลที่ตนรักในแต่ละครั้ง ดูเหมือนว่าจะมีเพียงน้อยนิด แต่เมื่อนับน้ำตาที่ไหลรินรวมกันในสังสารวัฏแล้วจะมีจำนวนมากกว่าน้ำในมหา สมุทรเสียอีก(๓) และน้ำตาแห่งความสูญเสียนี้ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้เป็นโสดาบัน เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี(๔) นางวิสาขามหาอุบาสิกา (๕) ไม่จำต้องกล่าวถึงบุคคลทั่วไป แต่สำหรับคนที่ได้เจริญมรณัสสติ แม้ไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ร้องไห้เสียใจก็มี ดังเรื่องบุคคลทั้งหลายพิจารณาความตายเหมือนงูลอกคราบ(๖) ฉะนั้น
       ความตาย คือการที่เบญจขันธ์แตกสลายไป หรือความขาดสูญของชีวิตในภพหนึ่ง(๗) และความตายนี้เนื่องมาจากความเกิด เมื่อไม่มีความเกิด ความตายก็มีไม่ได้ แต่เมื่อมีความเกิด ความตายจึงมี และความเกิดมีได้เพราะองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และมีสัตว์มาเกิด(๘) เมื่อสัตว์มาถือกำเนิดในครรภ์ของมารดาแล้ว ก็มีวิวัฒนาการแห่งการเจริญเติบโตเป็นลำดับ ดังคำที่ว่า รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละจึงเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะจึงเป็นเปสิ จากเปสิจึงเป็นฆนะ จากฆนะจึงเป็นปัญจสาขา (ปุ่ม ๕ ปุ่ม) ต่อจากนั้น ผม ขน และเล็บจึงเกิดขึ้น(๙) แล้ววิวัฒนาการต่อไป พออยู่ในครรภ์ประมาณ ๙ เดือนก็คลอดออกมาลืมตาดูโลก แล้ววิวัฒนาการเป็นร่างกายเติบโตขึ้นตามลำดับ ครั้นแล้ว ร่างกายก็ดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ แล้วแตกดับไปเมื่อหมดอายุขัย นี้กล่าวตามอายุกัป(๑๐) ของแต่ละคน
       แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีชีวิตอยู่รอดจนหมดอายุขัย เพราะบางคนไม่เป็นเช่นนั้น บางคนขณะอยู่ในท้องก็ตายแล้ว เพราะถูกทำแท้งบ้าง(๑๑) ถูกโรคเบียดเบียนบ้าง บางคนเกิดมาลืมตาดูโลกได้ไม่ถึงวัน ก็ถูกแม่ใจร้ายฆ่าเสียบ้าง ทิ้งถังขยะให้ตายบ้าง บางคนเมื่อเจริญวัยแล้ว พอวิ่งเล่นได้ก็จมน้ำบ้าง ถูกรถชนบ้าง บางคนย่างเข้าวัยหนุ่มสาว ผิดหวังด้านความรักก็ฆ่าตัวตายบ้าง ตายเพราะอุบัติเหตุด้วยความคะนองบ้าง บางคนย่างเข้าวัยกลางคน ขัดผลประโยชน์กัน ก็ถูกฆ่าบ้าง เป็นโรคตายบ้าง บางคนย่างเข้าสู่วัยชรา ทำงานไม่ได้ก็อดอยากตายบ้าง ตอมใจตายบ้าง ดังนั้นเรื่องความตายกับความเกิดเป็นของคู่กัน ทุกคนหลีกหนีความตายไม่พ้น (๑๒)
       ความตายเมื่อเกิดขึ้น ความเศร้าโศกเสียใจของหมู่ญาติก็ตามมา มากบ้างน้อยบ้าง ตามความรักและผูกพันกัน ดังนั้น ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีอุบายวิธีปฏิบัติต่อความตายที่เกิดขึ้น และถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อุบายวิธีดังกล่าวคือ มรณัสสติ (Mindfulness to Death) ซึ่งถือว่าเป็นกัมมัฏฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าสัพพัตถกกัมมัฏฐาน(๑๓) เป็นกรรมฐานที่ใช้ประโยชน์ได้ หรือควรต้องใช้ทุกที่ทุกกรณี
       มรณัสสติ คือการระลึกถึงความตาย เป็นอุบายวิธีปฏิบัติต่อความตายที่พระพุทธองค์ตรัสสอนแก่พุทธบริษัททั้งหลายไว้ อุบายวิธีดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมีหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะการนึกถึงความตายนั้น หากบุคคลไม่มีโยนิโสมนสิการคือไม่มีอุบายวิธีทำใจให้คิดอย่างถูกวิธีแล้ว อกุศลธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่น การนึกถึงความตายแล้วสลดหดหู่ เกิดความเศร้าโศกความเหี่ยวแห้งใจบ้าง เกิดความหวั่นกลัวหวาดเสียวใจบ้าง ตลอดจนเกิดความดีใจเมื่อนึกถึงความตายของคนที่เกลียดชังบ้างเป็นต้น แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการคือมีอุบายวิธีทำใจให้คิดอย่างถูกวิธี กุศลธรรมก็จะเกิดขึ้นคือเกิดความรู้สึกตื่นตัวเร้าใจ ไม่ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมของสังขาร ท่านกล่าวว่า การคิดถึงความตายอย่างถูกวิธี จะประกอบด้วยสติ คือ มีความกำหนดใจได้ หรือมีใจอยู่กับตัว ระลึกรู้ถึงสิ่งที่พึงเกี่ยวข้องกับจิต ทำให้เกิดสังเวคะ มีความรู้สึกเร้าใจได้คิดและสำนึกที่จะเร่งรีบทำการ และทำให้เกิดญาณ มีความรู้เท่าทันธรรมดาหรือรู้ตามเป็นจริง (๑๔)
       มรณัสสติเป็นธรรมที่ทุกคนควรเจริญอยู่เสมอทุกขณะ ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ภิกษุพิจารณาความตายดังนี้ว่า เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะเคี้ยวกินคำข้าว ๑ คำ หรือ เราพึงเป็นอยู่ได้เพียงชั่วขณะหายใจเข้าหายใจออกหรือหายใจออกหายใจเข้า(๑๕) ภิกษุผู้พิจารณาเช่นนี้ชื่อว่าผู้ไม่ประมาท หากเจริญมรณัสสติอย่างแรงกล้าก็จะทำให้สิ้นอาสวะได้
       การเจริญมรณัสสตินี้ ต้องพิจารณาถึงความตายของตนเป็นหลักทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ตลอด เวลา มิใช่ให้พิจารณาถึงความตายภายนอก ดังพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ภิกษุพิจารณาดังนี้ว่า งูพึงกัดเราก็ได้ แมงป่องพึงต่อยก็ได้ ตะขาบพึงกัดก็ได้ เราพึงพลาดหกล้มก็ได้ หมู่มนุษย์พึงทำร้ายเราก็ได้ หรือพวกอมนุษย์พึงทำร้ายเราก็ได้ เหตุนั้น เราพึงตาย เราพึงมีอันตรายนั้น บาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายมีอยู่หรือไม่ ถ้าบาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายมีอยู่ ก็ควรละบาปอกุศลธรรมนั้น ถ้าบาปอกุศลธรรมที่เรายังละไม่ได้ ซึ่งจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้จะตายไม่มี ก็ควรมีปีติและปราโมทย์ในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่เถิด(๑๖) จากเนื้อความที่กล่าวมานี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาถึงความตายของตนเป็นหลัก
       บุคคลที่เป็นตัวอย่างก็คือธิดาของนายช่างหูกชาวเมืองอาฬวี(๑๗) หลังจากนางได้ฟังเรื่องมรณัสสติจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เจริญมรณัสสติอย่างเดียวตลอดทั้งกลางคืนกลางวันสิ้นเวลา ๓ ปี ในที่สุด ก่อนที่จะตายนางตอบปัญหากับพระพุทธองค์แล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นโสดาบัน หรือเรื่องปูติคัตตติสสเถระ ผู้ป่วยใกล้จะตาย พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมท่านถึงที่อยู่และแสดงธรรมให้ฟังก็ได้บรรลุธรรม(๑๘) สำหรับผู้ป่วยใกล้จะตายนี้ พระ พุทธเจ้าพร้อมกับพุทธสาวกได้เสด็จไปโปรดและช่วยเหลือหลายครั้ง เช่น เรื่องเด็กหนุ่มมัณฑกุณฑลี(๑๙) ซึ่งกรณีตัวอย่างดังกล่าว นับว่าเป็นอุบายวิธีอันดีที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยใกล้ต่อมรณภัยให้มีความสุข
       ในทางพระพุทธศาสนา บุคคลที่เกี่ยวข้องกับความตาย มีหลายท่าน ส่วนมากจะสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักทั้งนั้น เช่น เรื่องนางปฏาจารา ธิดาของเศรษฐีเมืองสาวัตถีที่ได้ประสบความพลัดพรากอย่างมหันต์ กล่าวคือ สามีถูกงูกัดตาย บุตรคนหนึ่งตกน้ำตาย อีกคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนพังทับตาย จึงทำให้นางมีสติวิปลาสเพราะความพลัดพรากดังกล่าว เดินบ่นเพ้อไปคนเดียวโดยไม่มีผ้านุ่งห่ม(๒๐) เรื่องนางกีสาโคตมี ที่ได้รับความทุกข์เพราะบุตรตาย อุ้มร่างบุตรไปเที่ยวหายาเพื่อให้ฟื้นคืนชีพเหมือนเดิม จนใครๆ ที่พบเข้าต่างก็ว่านางเป็นบ้า
       กรณีตัวอย่างเรื่องที่ยกมานี้ ทำให้พิจารณาว่า คนที่เจริญมรณัสสติ เมื่อความตายมาเยือนก็ไม่เศร้าโศก คนที่ไม่ได้เจริญมรณัสสติ เมื่อความตายมาเยือนก็จะเศร้าโศก
       เพื่อให้คนในโลกนี้ ไม่มีความเศร้าโศก หรือมีอุบายวิธีบรรเทาความเศร้าโศก ในเมื่อคนที่รักตายไป หรือเมื่อความตายมาถึงตน ก็ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ดังนั้น จึงได้รวบรวมอุบายวิธีในการเจริญมรณัสสติในแง่มุมต่างๆ อันจะเป็นคู่มือเตรียมตายก่อนตายต่อไป ยิ่งในปัจจุบันนี้มีการตายที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อน เช่น เกิดคลื่นสึนามิขึ้นทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก มีความเศร้าโศกเสียใจมากมาย คนทั้งหลายต้องการที่พึ่งทางใจ ต้องการให้พระสงฆ์ไปปลอบใจ ให้ธรรมะเป็นทาน ชี้ทางคลายโศก งานวิจัยเรื่องนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ประชาชนคลายความเศร้าโศกได้ และเหตุผลสำคัญก็คือสืบเนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีแนวคิดที่จะจัดการศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา และได้จัดสัมมนาเรื่อง "ชีวิตและความตาย" นี้ด้วย และเรื่องความตายนี้ แม้ต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ก็มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
       ปัญหามีอยู่ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความตาย การเจริญมรณัสสติ วิธีปฏิบัติต่อผู้จะตายที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทยังไม่มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ จึงยากต่อการที่ประชาชนทั่วไป จะเข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันได้
       ดังนั้น ในการวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยต้องการศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความตาย การเจริญมรณัสสติ วิธีปฏิบัติต่อผู้ใกล้จะตายที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และผลที่เกิดจากการเจริญมรณัสสติ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ศึกษาวิจัยแล้วไปเผยแผ่ให้เป็นที่รับทราบและฝึกอบรมกันในหมู่ประชาชนทั่วไป อันจะเป็นการบรรเทาความเศร้าโศก เมื่อญาติมิตรผู้เป็นที่รักต้องจากไปอย่างกะทันหัน และเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าสืบต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------ (๑) ที.ม.(ไทย) ๑๐/๑๘๕/๑๓๑. (๒) สํ.ส.(ไทย) ๑๕/๑๔๕/๑๘๔-๑๘๕. (๓) ขุ.เถรี. (ไทย) ๒๖/๔๙๖-๕๐๑/๖๓๕-๖๓๖, ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๑/๑๑๓/๕๑๐-๕๑๕, ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๒/๑๗๔/๑๓๖. (๔) ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๑๘/๑๑๖-๑๑๗. (๕) ขุ.อุ.(ไทย) ๒๕/๗๘/๓๓๗,ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๒/๒๑๓/๒๑๑. (๖) ขุ.ชา.(ไทย) ๒๗/๑๙-๒๘/๒๐๒-๒๐๓. (๗) วิสุทฺธิ.(บาลี) ๑/๑๖๗/๒๕๐. (๘) ม.มู.(ไทย) ๑๒/๔๐๘/๔๔๔. (๙) สํ.ส.(ไทย) ๑๕/๒๓๕/๓๓๖. (๑๐) ที.ม.อ.(บาลี) ๒/๑๖๗/๑๕๗. (๑๑) ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๑/๕/๓๖-๓๙. (๑๒) ขุ.ธ.(ไทย) ๒๕/๑๒๘/๘๑. (๑๓) วิสุทฺธิ. (บาลี) ๑/๔๒/๑๐๕, วิ.อ. (บาลี) ๑/๑๖๕/๔๕๔. (๑๔) วิสุทฺธิ. (บาลี) ๑/๑๖๘/๒๕๐-๒๕๑. (๑๕) องฺ.อฏฺฐก.(ไทย) ๒๓/๗๓/๒๘๓-๓๘๕, ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (ไทย) ๒๒/๑๙/๔๔๔-๔๔๗. (๑๖) องฺ.อฏฺฐก.(ไทย) ๒๓/๗๔/๓๘๖-๒๘๘, ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (ไทย) ๒๒/๒๐/๔๔๗-๔๔๙. (๑๗) ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๒/๑๗๔/๑๓๒-๑๓๕. (๑๘) ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๔๑/๒๓๙-๒๔๑. (๑๙) ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๒/๑๙-๒๑. (๒๐) ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๑/๑๑๓/๕๑๐-๕๑๕.
กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย