» อักษรย่อชื่อคัมภีร์
» เงินในคัมภีร์พุทธศาสนา

» ตำราวิชาการ > บทความทางวิชาการ  

 
หน้า [] []

เงินในคัมภีร์พุทธศาสนา


สุชญา ศิริธัญภร. ป.ธ.๙, พธ.บ., พธ.ม.,
รักษาการหัวหน้าฝ่ายตำราและเอกสารทางวิชาการ
กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

       เงินเป็นวัตถุเครื่องปลื้มใจที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาและครอบครอง เงินเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่มันมีบทบาทที่กำหนดชีวิตมนุษย์ได้ และทำให้คนในบ้านมีความสุขมาก เมื่อมีเงิน ดังคำว่า เรือนทั้งหลายที่มีเงินทองบริบูรณ์มีโภชนาหารมากมายเป็นเรือนที่มีความสุข(๑) เพราะมนุษย์ติดอยู่กับวัตถุเครื่องปลื้มใจที่เรียกว่าเงิน และเงินนี้ เกิดขึ้นมาก็เพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ ดังคำว่า "โคทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อให้ใช้ทำประโยชน์ในกิจการต่างๆของมนุษย์ เหมือนแม่น้ำ แผ่นดิน เงินทอง ทรัพย์สินและพืชพันธุ์ธัญญาหารเกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์"(๒) และเงินนี้ ทำให้คนเราเกิดความพอใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังคำว่า "เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ"(๓) คนเรามีและแสวงหาได้ แต่ไม่ควรจะหมกมุ่นจนเกินพอดี เพราะในกามสูตรกล่าวเตือนสติคนไว้ตอนหนึ่งว่า "นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อันตรายที่เกิดจากทำทุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจ ก็จะย่ำยีนรชนนั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไปเหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น นรชนพึงมีสติทุกเมื่อ" ในเรื่องนี้ คนเมื่อจะหาเงิน ก็จงมีสติเข้ากำกับไว้ และควรประพฤติสิ่งที่สุจริตในการแสวงหาเงินเถิด

       เงินสำหรับบางคนถือว่าเป็นพระเจ้า เพราะว่าเงินสามารถบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะยึดน้ำใจคนไว้ได้ ต้องอาศัยเงินเป็นใบเบิกทาง สร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นแก่กันและกันได้ ในครหิตชาดก กล่าวถึงคนที่มองเห็นเงินเป็นดังพระเจ้า แม้แต่ลิงก็ยังกล่าวเตือนสติไว้ว่า "มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาทราม ไม่เห็นธรรมของพระอริยะกล่าวกันว่า เงินของฉัน ทองของฉัน ทั้งคืนทั้งวัน(๔) และในมหาสุตโสมชาดก กล่าวทำนองว่าเงินแม้จะสำคัญอย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังด้อยกว่าดังคุณธรรมคือสัจจะที่ให้ไว้แก่กันและกัน ดังคำว่า "พระญาติ พระโอรส พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทอง ไม่ใช่ของสำคัญหรือ แต่เพราะเรานัดหมายพราหมณ์ผู้หนึ่ง เมื่อท่านยังจับตัวข้าพเจ้าอยู่ แล้วข้าจะไปทันเวลานัดได้อย่างไรเล่า(๕) และเงินนี้ทำให้คนเราปรารถนาเนืองๆเป็นอันมาก ดังคำว่า "นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้องหรือกามเป็นอันมาก"(๖) และเงินนี้ก็เป็นเหตุทำให้คนตัณหาอีกด้วย และเมื่อมีเงินแล้ว คนเราก็มักจะยึดว่าเป็นของเรา เป็นของเรา(๗) จนบางคนลืมที่จะให้ใช้จ่าย ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนและผู้อื่นเลย ดังนั้น เงินหากคนที่มีเงินและยึดเงินว่าเป็นของเราก็จะจัดว่าผู้มีอำนาจตัณหาที่เรียกว่าตัณหาวิจริต ๑๐๘ เข้าครอบงำทีเดียว(๘) และเงินนี้ คนที่ยุ่งเกี่ยวก็คือผู้ครองเรือน ดังนั้น เมื่อเป็นผู้ครองเรือน จะต้องไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่มีความเจริญ ดังเช่นคำว่า "แม้คฤหัสถ์บางพวก ในโลกนี้ เมื่อเขาให้ช้าง... รถ... เงิน... ทอง... บ้าน... นิคม... ชนบท ก็ไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ... เบือนหน้าไปทางอื่น"(๙) ธรรมดาคนเรายังเมื่อยังครองเรือนอยู่ และทำงานร่วมกับผู้อื่น เมื่อมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรก็ควรทำตามนั้น และควรทำอย่างดีที่สุดจนสุดความสามารถทั้งเงินยังเป็นเครื่องผูกพันให้คนยึดติดอีกด้วย(๑๐) อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อแตกต่างระหว่างพระภิกษุกับคฤหัสถ์ คือคนที่จะบวชสมัยก่อน ส่วนมากมักจะประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นส่วนมาก แล้วเกิดความเบื่อหน่าย สละทรัพย์สินเงินทองแล้วจึงออกบวชเป็นบรรพชิต ซึ่งข้อความนี้สอดคล้องอันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของบริษัทในโลกว่ามี ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) พวกกำหนัดยินดี (๒) พวกไม่มีกำหนัดยินดี ในคัมภีร์อธิบายไว้ว่า พวกกำหนัดยินดี เมื่อมีแก้วมณีและกุณฑล จึงแสวงหาบุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทอง และเงิน ดังนั้น จึงทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน มีแต่ความร้อนใจ เช่น พวกอเจลกผู้เปลือยกายผู้ทรมานร่างกายให้ลำบากโดยประการต่างๆมีเปลือยกาย อดอาหาร นอนบนหนาม เป็นต้น หรือเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านบ้าง เป็นนักฆ่าสัตว์ต่างๆอย่างโหดเหี้ยม ไร้ความเมตตา หรือเป็นพระราชาผู้ไม่ทรงธรรม ก็จะใช้พระราชอาชญาต่างๆ มีให้ฆ่าสัตว์บูชายัญ ให้ประชาชนทำงานหนักจนมีน้ำตานองหน้า ส่วนพวกไม่กำหนัดยินดี เมื่อมีต่างหูแก้วมณี ก็ละทิ้งบุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย นา สวน ทอง และเงิน แล้วออกจากเรือนบวช ดังนั้น จึงมีแต่ความดับร้อน เย็นใจ เช่น นักบวชมีพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระพุทธเจ้า มีการเว้นขาดจากเงินและทองเป็นต้น สำรวมอินทรีย์ ละนิวรณ์สิ่งที่กางกั้นมิให้บรรลุความดีต่างๆ จนจิตหมดความเศร้าหมองทางจิต เป็นจิตผ่องใสได้ฌาน และวิชชา หลุดจากอาสวะกิเลส เป็นพระอรหันต์ หมดการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป(๑๑)

       เงินเป็นสิ่งที่คนแสวงหา และอยากจะได้มาครอบครอง ปัจจุบัน หลายคนคิดว่า เงินคือสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน จะทำอะไร ก็ล้วนจะต้องมีเงินเป็นหลักทั้งนั้น เงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ผู้ยังมีกิเลส แต่ในทางพระพุทธศาสนา มีทรรศนะเกี่ยวกับเงินไว้อย่างไรบ้าง มีเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวกับเงิน และเงินให้คติธรรมอะไรบ้าง และบุคคลกับเงิน มีใครบ้างที่พอจะตอบได้ ในประเด็นเหล่านี้ ยังไม่ค่อยมีใครได้ค้นคว้า ดังนั้น ผู้เรียบเรียงขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องเงินดังนี้ เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว เงินคือเงินคือสิ่งที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในการชำระสินค้า หรือการปลดเปลืองพันธะทางธุรกิจอย่างอื่นๆ ซึ่งเงินคืออะไร มีคำกลอนเกี่ยวกับเงิน ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ เจ็บแต่ก็โอเค.ไว้ตอนหนึ่งว่า พระจันทราอาทิตย์มืดมิดหมอง เพราะละอองควันเขม่าอับเฉาแสงสมณะไม่รุ่งโรจน์ประโยชน์แรงเพราะพิษแห่งเงินตราและนารีเงินคือเพชฌฆาตเงียบเกินเปรียบได้ พาจิตใจลุ่มหลงไม่คงที่ เงินคือทุกข์บั่นทอนร้อนฤดี เงินเหมือนดังไฟจี้ในหัวใจ

       เมื่อกล่าวถึงเงินที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เงิน คือสิ่งที่ทำให้พอใจ น่าใคร่ น่าปรารถนา โดยอยู่ในรูปลักษณะต่างๆ จัดเป็นกามอย่างหนึ่งที่เรียกว่าวัตถุกาม(๑๒) และเงินนี้ยังรวมความว่า ไร่นา ที่ดินอีกด้วย อยู่ในประเภทของรัตนะ๙ อย่าง(๑๓) ความหมายของเงินก็คือสิ่งที่ทำให้คนที่ใกล้ชิดเกิดความยินดี(๑๔) หรือ สิ่งที่ซื้อและขาย(๑๕) มีศัพท์เกี่ยวกับเงินถึง ๙ ศัพท์ เช่น รัชตะ หิรัญญะ เป็นต้น ลักษณะและชนิดของเงินอยู่ในประเภทปฐวีธาตุ มีลักษณะที่แข็ง สัมผัสก็รู้สึกได้ เมื่อถูกกระทบก็รู้ได้ เห็นก็รู้ว่าเป็นเงิน สีของเงิน ในคัมภีร์ไม่ระบุไว้ชัดนัก กล่าวเพียงแค่ว่าสีเหมือนเงินยวง แต่ในสีของเงินก็คงมีการพัฒนาไปตามลำดับ คงคล้ายกับปัจจุบัน ซึ่งก็คงเปลี่ยนแปลงไปตามโอกาสต่างๆ

       มาตราของเงินมีกล่าวไว้ว่า ๑ ปสตะเป็น ๑ กุฑุวะ (ลายมือ,ซองมือ) เป็นต้น ซึ่งยาวมากคล้ายกับท่องสูตรคูณสมัยเรียนชั้นประถมศึกษา ที่อยู่ของเงินมีปรากฏในทั้งบนแผ่นดิน"(๑๖) ในมหาสมุทร ในอากาศมีปรากฏสำหรับผู้มีบุญบารมี(๑๗) แต่ในเปตวิสัยไม่มีเงินใช้กันเลย(๑๘) เพราะพวกเปรตดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลของกรรมที่ยังเหลืออยู่ หมดกรรมก็ไปเกิดในภพภูมิอื่นๆ ต่อไป

       ด้านสถานะของเงิน ในการใช้เงินเป็นส่วนประกอบกับสิ่งอื่น ๆ ก็มีกล่าวไว้หลายด้าน เป็นต้นว่า

       ใช้เงินในการสร้างสิ่งสักการบูชา เช่น ใช้เงินสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ"(๑๙) ใช้เงินเป็นของใช้สอย เช่น ทำเป็นรองเท้าเงิน ช้องผม ใช้เงินเป็นเครื่องสร้างบารมีและเป็นที่อยู่อาศัย เช่น สร้างเป็นปราสาท(๒๐) แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน เช่น ราชสีห์และหมาจิ้งจอกก็เคยอยู่ถ้ำเงินเช่นกัน(๒๑) ใช้เงินเป็นของเล่นเด็ก เช่น ทำเป็นกระต่ายเงินให้เด็กเล่นกัน ใช้เงินเป็นเครื่องล้อใจให้คนทำสิ่งต่างๆ เช่น ใช้เงินพูดหว่านล้อมเพื่อให้ทำบางสิ่งบางอย่างที่ตนปรารถนา ดังที่พระเทวทัต(๒๒) พูดกับนายควาญช้างว่าตนมีบารมีสามารถทูลให้พระราชาขึ้นเงินเดือนให้แก่ท่านได้ หากปล่อยช้างนาฬาคิรีไป

------------------------------------------------------------------------------------- (๑) ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๑๖๙/๑๑๐. (๒) ขุ. สุ. (ไทย) ๒๕/๓๑๐-๓๑๑/๕๗๑. (๓) ขุ. ชา. (ไทย) ๒๘/๑๓๐/๑๐๕. (๔) ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๑๓๗/๑๐๑. (๕) ชุ. ขา. (ไทย) ๒๘/๓๙๙/๑๖๓. (๖) ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๔/๑๔, แม้ในจูฬนิทเทส ก็กล่าวไว้ทำนอง มีอยู่หลายแห่ง. (๗) ขุ. ชา. (ไทย) ๒๙/๗/๓๔. (๘) ขุ. ม. (ไทย) ๒๙/๓๘/๑๓๗ , แม้ในจูฬนิทเทส เล่มที่ ๓๐ ก็กล่าวไว้ทำนองเดียว กันมีปรากฏหลายแห่ง ขุ.จู. (ไทย) ๓๐/๑๔๖/๔๖๗. (๙) ขุ.จู. (ไทย) ๓๐/๑๒๙/๔๓๐. (๑๐) ขุ.จู. (ไทย) ๓๐/๑๓๐/๔๓๒. (๑๑) ดูประกอบ ม.ม. (ไทย) ๑๓/๔๑๔-๔๒๐/๕๑๘-๕๒๘. (๑๒) ขุ.ชา. (ไทย) ๒๙/๑/๑, ขุ. ชา. (ไทย) ๒๙/๗/๓๔. (๑๓) ขุ.จู. (ไทย) ๓๐/๑๔๖/๔๖๗. (๑๔) มีวิเคราะห์ศัพท์ไว้ว่า สิ่งที่เป็นเหตุทำให้ชนทั้งหลายยินดี ชื่อว่ารชตะ, หรือสิ่งใดๆ ที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ ชื่อว่ารชตะ. (๑๕) มีวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ใช้ซื้อและขาย ชื่อว่ากหาปณะ. (๑๖) ขุ. ชา. (ไทย) ๒๘/๑๐๙/๒๑. (๑๗) ขุ.อป. (ไทย) ๓๒/๗-๘/๒. (๑๘) ขุ.ขุ. (ไทย) ๒๕/๖/๑๖, ขุ.เปต. (ไทย) ๒๖/๑๙/๑๗๑, อภิ. ก. (ไทย) ๓๗/๔๙๐/๕๑๙. (๑๙) ขุ.อป. (ไทย) ๓๒/๕๕/๑๒๙,ขุ.อป. (ไทย) ๓๓/๑๒๔-๑๒๗/๓๕๔. (๒๐) วิ.มหา.(ไทย) ๑/๒๗๑/๒๙๓, ขุ. ชา. (ไทย) ๒๗/๘๒/๓๔, ๑๐๑/๒๑๘, ดูประกอบ ขุ. อป.(ไทย) ๓๒/๗๒/๑๑๒. (๒๑) ขุ. ชา. (ไทย) ๒๗/๔/๖๓,ขุ.เปต. (ไทย) ๒๖/๒๑๐/๒๐๒. (๒๒) วิ.จู.(ไทย) ๗/๓๔๒/๑๙๕.
กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย