» อักษรย่อชื่อคัมภีร์

» เงินในคัมภีร์พุทธศาสนา

» ตำราวิชาการ > บทความทางวิชาการ  

 
หน้า [] []

เงินในคัมภีร์พุทธศาสนา (๒)***

       ด้านบทบาทของเงินที่มีทั้งประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ก็มีกล่าวไว้ ๒ ประเด็น คือ (๑) ยุคสมัยของเงิน ในเรื่องนี้ จัดเป็น ๓ ข้อย่อย คือ 1.ก่อนสมัยพุทธกาล บางคนไม่มีการใช้เงิน ไม่รับเงิน แต่ก็เป็นอยู่ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน เช่น ปั้นหม้อดินรูปทรงต่างๆ แลกเปลี่ยนอาหารกัน(๒๓) หรือในวิธีการบริหารบ้านเมือง ก็มีการใช้เงินช่วยให้การทำงานของนักปกครองสะดวกราบรื่นดี ด้วยวิธี ๓ อย่าง(๒๔) คือ (๑) ให้พันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมือง (๒) ให้ต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรมในบ้านเมือง (๓) ให้อาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมือง 2. สมัยพุทธกาล บุคคลสำคัญหลายคน ที่ร่ำรวยเงินทอง จะสละเงินทองแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต และเว้นขาดจากการรับเงินและทอง มีข้อบัญญัติไว้ว่า เงินเป็นของที่ไม่ควรจับต้อง แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่นหากเงินตกในวัด เมื่อไม่จับต้อง ก็มีโทษเช่นกัน หรือหากจะมีคนถวาย ก็ให้มีไวยาวัจกรรับไว้ เช่นนี้ก็เป็นอันยกเว้น แม้แต่สามเณร ก็ยังมีสิกขาบทข้อที่ ๑๐ ว่า เว้นขาดจากการรับเงินและทองเช่นกัน(๒๕) 3. สมัยหลังพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน ก็มีกล่าวถึงการสังคายนาครั้งที่ ๒ เงินข้อหนึ่ง ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารับได้ไม่ผิดพระวินัย และฝ่ายหนึ่งเห็นว่าผิดพระวินัย เมื่อเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นสาเหตุให้ทำสังคายนาขึ้นมา(๒๖) ทั้งยังกล่าวเรื่องเงินเกี่ยวกับอนาคต(๒๗) ไว้ว่า ในกาลข้างหน้า พวกสมณะและคนในลัทธิศาสนาอื่น ก็จะยินดีเงินและทองและพากันสะสมกันมากมาย แต่ทายกก็ยังศรัทธาเช่นเดิม พวกสมณะพราหมณ์จะมีทรัพย์และธัญชาติ คือการสาธยายมนตร์รักษาขุมทรัพย์ที่ประเสริฐไว้ ทายกต่างเต็มใจถวายภัตตาหารที่ตนจัดเตรียมไว้ที่ประตูเรือน อันเป็นการเกื้อกูลสงเคราะห์กันและกัน คือพระให้ธรรม โยมก็ให้ปัจจัย ๔

       ข้อดีของเงิน เช่น บริจาคเงินทำบุญให้ทาน เช่น สร้างวัด สร้างศาลา ถวายภัตตาหาร และปัจจัย ๔ เมื่อยามแก่เฒ่า ก็มอบให้ลูกหลานผู้สืบสกุล หรือเมื่อยามมีภัย ก็ใช้เงินเบิกทางหนีเอาตัวรอดได้(๒๘) ส่วนข้อเสียของเงิน ก็มีกล่าวไว้หลายแห่ง(๒๙) ส่วนมากคนต่างหากที่เป็นผู้เสีย ไม่ใช่เงินมีข้อเสียหรอก เช่น คนใช้เงินล่อเพื่อให้อีกคนหนึ่ง บอกความลับบางอย่าง ใช้เงินซื้อผู้หญิงมาเสพสม คนถูกฆ่าตาย หรือทะเลาะวิวาทกัน ก็เพราะเงินเป็นเหตุ เงินทำให้คนริษยากัน ข้ามหน้าข้ามตา ทำให้ไม่พอใจกัน บางครั้ง เงินก็ทำให้คนเป็นโจรลักขโมยไป เพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ก็ได้ เมื่อมีเงิน ในบางครั้ง อยากให้ผู้อื่นทำอะไรให้ ก็ใช้เงินนั่นแหละ ให้ผู้อื่นทำงานให้เราก็ได้ ดังเด็กชาวบ้านให้คนเปลี้ยดีดกรวดรูปสัตว์ต่างๆ ที่ใต้ต้นไม้

       ด้วนวิถีชีวิตชาวพุทธกับเงินตรา จัดแบ่งตามระยะกาลเวลาเป็น ๓ ระยะ กล่าวคือ 1. บุคคลก่อนพุทธกาล(๓๐) เช่น เรื่องประวัติพระราหูทะเลาะกับพี่ชายทั้งสอง เรื่องนายติณบาลทำบุญกฐินแล้วร่ำรวยทันตาเห็น หรือเรื่องคนรับใช้ของจูฬเศรษฐีผู้กตัญญู ภายหลังได้เป็นเศรษฐี เพราะรู้คุณคนของท่านจูฬเศรษฐีที่บอกอุบายวิธีที่ทำให้ได้เงินเพราะขายหนูตายเท่านั้น 2. บุคคลสมัยพุทธกาล(๓๑) เช่น นางกีสาโคตมี จับทองและเงินที่กลายเป็นถ่านให้กลับกลายเป็นทองและเงินเช่นเดิมได้ มารดาบิดาของพระสุทินและพระรัฏฐบาลใช้เงินมากองหน้าพระลูกชาย แล้ว บอกให้สึกมาใช้เงินเถิด หรือช่างศิลป์หนีตายมาอยู่นอกเมืองได้ เพราะนำเงินติดตัวมาก่อนหนี จึงทำให้มีชีวิตดำรงอยู่ได้ 3. บุคคลสมัยหลังพุทธกาล กล่าวถึงคนผู้มีบุญญาธิการมาก(๓๒) เช่น ด้วยบุญญานุภาพของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย รัตนะต่าง ๆ มีทอง และเงิน เป็นต้น เกิดผุดขึ้นรอบกรุงอนุราธบุรี เรื่องนายช่างแก้วซื้อเนื้อให้หนูเฝ้าทรัพย์กิน ต่อมาหนูคาบเงินมาให้เป็นการตอบแทนกันและกัน เรื่องคนเคยสร้างพระไตรปิฎกถวายวัด แล้วได้พบแล้วนำมาบอกลูกหลานว่าขึ้นไปดูวิมานของตนมาแล้ว สวยงามมาก เห็นตู้และพระไตรปิฎกตั้งอยู่ในวิมานนั้นด้วย

       ด้านพระสงฆ์กับเงิน กล่าวไว้ใน ๓ ประเด็น คือ เงินกับการทำที่สมควร ในสิกขาบทต่างๆ มีกล่าวไว้ว่า พระสมณโคดมและพระสาวกเว้นขาดจากกการรับเงินและทอง(๓๓) แต่ก็มีข้อยกเว้น ให้รับเงินได้ในบางกรณี ในเมื่อทายกมีศรัทธาก็ให้มอบไว้แก่กัปปิยการกหรือไวยาวัจกร (ลูกศิษย์วัด) ได้ หรือบอกให้เขาในทำบุญในบางสิ่งที่ยังขาดเหลือ ดังเช่นดังเช่นพระ อุเทน บอกให้โฆฎมุขพราหมณ์ผู้ซึ่งจะถวายเงินแก่ท่าน แต่ท่านไม่รับ แต่บอกให้สร้างวิหารโรงฉันแทน โฆฏมุขพราหมณ์ฟังแล้วเลื่อมใสชื่นชมยินดีเหลือประมาณ แล้วสร้างโรงฉันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว(๓๔) ในบางครั้ง เงินคืออสรพิษร้าย ก็คืออสรพิษร้าย(๓๕) เงินแม้จะมีค่า บางครั้ง คนที่มีเงินกูถูกฆ่าได้เช่นกัน ดังเรื่องพ่อค้าต่างแดน เมื่อโจรปล้น กลับไม่หนีไปเหมือนคนอื่น เพราะเป็นหวงเงินที่มีอยู่ ผลสุดท้าย เจ้าของเงินถูกฆ่า กลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ณ ที่นั้นเอง

       ด้านผลานิสงส์ของเงินที่อำนายให้เกิดผล(๓๖) เช่น คนที่ทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา ธัมมิกอุบาสก นันทิยอุบาสก หลังตายแล้ว ล้วนเกิดในสุคติโลกสวรรค์ แม้การทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่เป็นเปรต เปรตที่เป็นญาติ ก็ได้ของทิพย์ในทันทีทันใด แต่เมื่อจะทำบุญ ควรทำบุญด้วยศรัทธามีปัญญาพิจารณาด้วย หากไม่มีศรัทธา สักแต่ว่าทำ ก็จะได้รับผลไม่ดี ต้องไปเกิดในสุคติภูมิ ที่กันดาร ถึงจะมีวิมานอยู่ก็ตาม แต่ก็สวยงามสู้บุญบารมีของผู้ทำด้วยศรัทธาไม่ได้

       ในด้านหลักธรรมที่จะทำให้คนเรามีเงิน ซึ่งจะต้องประกอบด้วยหลักธรรมกับเหตุปัจจัยภายใน เช่น (๑) ลุกขึ้นก่อน (๒) นอนทีหลังเขา (๓) คอยรับใช้ (๔) ปฏิบัติให้ถูกใจ (๕) พูดไพเราะ(๓๗) และควรประกอบด้วยคุณธรรม ๓ ประการ(๓๘) คือ (๑) ให้ทาน คือให้สิ่งใดได้สิ่งนั้น (๒) มีสัจจะ คือคนเรา ทำอย่างไร พูดอะไร ต้องรักษาไว้ เสียอะไรก็เสียไปเถิด แต่อย่าเสียสัจจะ (๓) สำรวม คือคนเราต้องสำรวม มีความระมัดระวังจะใช้จ่ายอะไร ต้องเป็นนักคำนวณ ตลอดถึงต้องมีความสำรวมอินทรีย์ ๖ คือตา หู เป็นต้นอีกด้วย และควรมีหลักธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวน ๘ ประการ(๓๙) เช่น (๑) พระราชาไม่รบกวน (๒) โจรไม่ปล้น (๓) ไฟไม่ไหม้ (๔) น้ำไม่ท่วม (๕) ทรัพย์ไม่หาย (๖) ธุรกิจที่ลงทุนมีความเจริญ (๗) ทรัพย์ที่มีเก็บมีความมั่งคง (๘) ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างพอดี ไม่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย

       ในด้านสิ่งที่ทำให้เงินเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่น การบนบานศาลกล่าว หรือการพึ่งพาคนอื่นอยู่ร่ำไป การทำเช่นนี้ไม่ทำให้คนเรามีเงินได้หรอก ในคันธตินทุกชาดก(๔๐) กล่าวทำนองว่า คนที่ประมาทมัวเมาจะทำให้ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง คนที่จะมีเงินได้ ต้องมีความขยัน และมีปัญญาคิดพิจารณางานที่ทำอยู่เป็นประจำ และเหตุที่ทำให้คนเราไม่มีเงิน ต้องเว้นสิ่งที่ควรเว้นให้ห่างไกล(๔๑) เช่น คอกโค (สถานที่ชนโค) ๑ โรงสุรา ๑ นักเลง ๑ การมัวสุ่มนินทาชาวบ้าน ๑ นอกจากนี้ เหตุที่ทำให้คนเราไม่มีเงิน เพราะเราไม่มีหัวใจเศรษฐีที่ว่า ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร เลี้ยงชีวิตเหมาะสม

        ในเรื่องสัจธรรมแห่งเงิน กล่าวถึงเงินว่าเป็นสิ่งที่คนอยากได้มากกว่าคนที่ไม่อยากได้ แต่เงินก็ตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ทั้งก่อให้ความเศร้าโศกและความเศร้าหมองในที่สุด(๔๒) ในชรามรณสูตร(๔๓) ให้ข้อคิดเกี่ยวกับคนทั้งหลายไว้ เริ่มต้นพระราชา มหาเศรษฐี ชาวบ้านทั่วไป แม้จะมีเงินและทองมากเพียงไรก็ตาม ก็หลีกให้พ้นจากความแก่และความตายไม่ได้เลย เมื่อตายแล้ว เงินมากมายสุดท้าย ก็ทิ้งไว้อยู่บนโลก เงินสักบาทก็เอาไปไม่ได้เลย แม้เงินในปาก หลังจากตายแล้ว สัปเหร่อก็ยังเอาไปใช้เลย สิ่งที่จะติดตัวไปได้ ก็มีแต่บุญกับบาปเท่านั้น ดังนั้น คนเราจึงไม่ควรประมาทในชีวิต คนรวย หรือคนจน ก็ตายเหมือนกัน แล้วก็วนเวียนตายเกิดอย่างไม่รู้จบรู้สิ้นตราบที่ยังไม่สิ้นกิเลส

        ดังนั้น เมื่อมีเงิน ก็อย่าในประมาทในการที่จะสร้างความดี เช่น ทำบุญให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่น และเมื่อจะใช้เงิน ควรมีหลักการแบ่งเงินเป็น ๓ กอง ใช้ซื้อของกินกองหนึ่ง ใช้ลงทุนกองหนึ่ง เก็บไว้กองหนึ่ง(๔๔) และมีกิจกรรมเกิดขึ้น ควรยึดหลักความพอดี ทำอะไรก็พอประมาณอย่าเกินตัว ควรยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทาแล้วความสุขจะเกิดขึ้น แก่ตนเองและครอบครัว ตลอดถึงสังคมและชาวโลก เพราะเงินเป็นมูลเหตุแล เงินเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากในปัจจุบันนี้ ดังนั้น ควรใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มาก ควรใช้เงินให้ถูกจังหวะ เหมาะสมกับโอกาส เช่น ในปี ๒๕๔๙ ช่วงเดือน กันยายน-พฤศจิกายนนี้ เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างหนักในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคกลางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับคนที่มีเงินประสงค์จะให้เงินเกิดประโยชน์มากควรรีบช่วยเหลือ เพราะโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือคนที่ประสบความเดือดร้อน นานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง สำหรับคนที่เดือดร้อน ขาดที่พึ่ง อดอยากข้าวและน้ำ แล้วมีคนยืนมือเข้าไปช่วย เขาเหล่านั้น ก็ไม่มีอะไรจะตอบแทน นอกจากจะกล่าวคำว่า ขอบคุณ และการให้พร การให้ความยกย่องสรรเสริญ หากคนที่มีเงินประสงค์ให้เงินมีประโยชน์และเกิดคุณค่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสม เพื่อลดภาวะความเดือดร้อนของคนไทยให้น้อยลง คนไทยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ควรมีความเอื้ออาทรต่อกันในยามที่เพื่อนคนไทยเกิดความขัดสนและมีทุกข์ทั้งร้อนใจ อาศัยกำลังเงินและกำลังกายที่คนไทยด้วยกันต่างกันต่างช่วยเหลือกัน เราช่วยเหลือเขาในวันนี้ ในวันข้างหน้า เขาเหล่านั้น อาจจะย้อนสนองมาตอบแทนคุณพวกเราบ้างก็ได้ เพราะในโลกนี้ใดๆ ล้วนอนิจจัง ท้ายสุดนี้ ผู้เรียบเรียง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เงินในคัมภีร์พุทธศาสนานี้ คงจะเกิดประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ขอให้ท่านผู้อ่านจงได้รับความสุขและสมความปรารถนา มีเงินเข้าบ้าน ตลอดกาล ทุกเมื่อเทอญ สวัสดี.

------------------------------------------------------------------------------------- (๒๓) ม.ม. (ไทย) ๑๓/๒๘๘/๓๔๕. (๒๔) ที.สี. (ไทย) ๙/๓๓๘/๑๓๑-๑๓๒. (๒๕) สํ.สฬา. (ไทย) ๑๘/๓๖๒/๔๑๕-๔๑๖, ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๑๙/๑๙-๒๑, ขุ. เถรี. (ไทย) ๒๖/๒๘๔/๖๐๒ ,ขุ. เถรี. (ไทย) ๒๖/๓๔๔-๓๔๕/๖๑๒, วิ.มหา. ๒/๕๘๓/๑๐๘ , วิ.มหา.(ไทย) ๑/๔๗/๓๖, ๔๙/๓๗, วิ.ม.(ไทย) ๕/๒๙๙/๑๒๙, วิ.ม.(ไทย) ๔/๑๐๖/๑๖๘-๑๖๙, ขุ. ขุ. (ไทย) ๒๕/-/๓,วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๖/๓๙๔. (๒๖) วิ.จู.(ไทย) ๗/๔๔๖/๓๙๓. (๒๗) ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๒๘๘-๒๘๙/๔๖๘. (๒๘) ม.ม.(ไทย) ๑๓/๓๑/๓๖, ขุ.ธ.อ.๒/-/๓๗-๓๘. (๒๙) ขุ. ชา. (ไทย) ๒๗/๔๒-๔๓/๓๖๑, สํ.สฬา. (ไทย) ๑๙/๒๑๔/๑๔๖-๑๔๗ , ขุ.สุ.(ไทย) ๑๑๙/๕๒๙, ขุ.เปต. (ไทย) ๒๖/๗๙๖-๗๙๙/๒๙๘, ขุ.เปต.อ.(บาลี) -/๗๙๖-๗๙๙/๒๙๔-๒๙๗, ขุ.สุ.(ไทย) ๑๑๙/๕๒๙ , ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๑๐๗/๔๔ ขุ.ชา.อ. (บาลี) ๒/๑๐๗/๒๓๙-๒๔๑. (๓๐) กรมศิลปากร. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒ ไตรภูมิโลกวินิฉย กถา. กรุงเทพฯ. บริษัท เอดิสัน เพรส โพรดักส์ จำกัด, ๒๕๓๕. หน้า ๘๗๕-๘๗๖, ขุ.ชา.(ไทย) ๒๗/๔/๒,ขุ.ชา.อ.(บาลี) ๑/๔/๑๗๓-๑๗๖, มงฺคล. (บาลี) ๒/๓๙๑/๓๔๖ (ฉบับมหาจุฬาฯ). (๓๑) ขุ.ธ.อ. ๔/-/๑๔๒-๑๔๓, วิ.มหา.๑/๓๓/๒๒, สํ.ส. ๑๕/๑๓๖/๑๗๓ . (๓๒) มงฺคล. (บาลี) ๑/๙๙/๖๒ , มหาวํส. ๑/๑-๔๔/๑๘๘-๑๙๑. (๓๓) ม.มู. (ไทย) ๑๒/๒๙๒/๓๒๓, ๔๑๑/๔๔๗, ดูประกอบ องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑๑๙๘/๓๐๘. (๓๔) ม.ม. (ไทย) ๑๓/๔๒๑/๕๒๙-๕๓๐. (๓๕) ขุ.ธ. อ. (บาลี) ๓/-/๑๓๒. (๓๖) ขุ.ธ.อ. (บาลี) ๕/-/๙, ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๓/-/๗๓, ขุ.เปต.อ. (บาลี) -/๗๙๖-๗๙๙/๒๙๔-๒๙๗, ที.ม.อ. (บาลี) ๒/๔๓๙/๔๓๐-๔๓๑. (๓๗) ดูประกอบ ที.สี. (ไทย) ๙/๑๘๓/๖๒. (๓๘) ดูประกอบ ที.สี. (ไทย) ๙/๑๖๖/๕๔. (๓๙) สํ.สฬา. (ไทย) ๑๘/๓๖๑/๔๑๒-๔๑๔, ดูประกอบ ขุ. ม. (ไทย) ๒๙/๒/๕. (๔๐) ดูประกอบ ขุ.ชา.(ไทย) ๒๗/๓๓๗๑๕๘๙. (๔๑) ขุ. ชา. (ไทย) ๒๗/๕๓/๔๐๕. (๔๒) ม.มู. (ไทย) ๑๒/๒๗๔/๒๙๖-๒๙๘. (๔๓) สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๑๑๔/๑๓๑. (๔๔) ที.ปา.(ไทย) ๑๑/๒๖๕/๒๑๒.
กองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย